บริการสืบค้น

Custom Search

PostHeaderIcon วัดศิลาอาสน์ ภูพระ

ตั้งอยู่ที่บ้านนาไก่เซา ตำบลนาเสียว ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 201 (ชัยภูมิ-ภูเขียว) ประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามทางสายนาเสียว-ห้วยชันประมาณ 5 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร ภายบริเวณวัดมีเพิงผาหินซึ่งมีภาพจำหลักกลุ่มพระพุทธรูป อันเป็นที่มาของชื่อ ภูพระ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านมาช้านาน ปัจจุบันมีการสร้างหลังคาครอบไว้ ประกอบด้วยพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายพาดอยู่ที่พระชงฆ์ (พระหัตถ์อยู่ในท่าตรงข้ามกับปางมารวิชัย) เรียกกันว่า พระเจ้าตื้อ มีพระพุทธรูปหินทรายขนาดเล็กสูง 7 นิ้วลักษณะเดียวกันอีก 1 องค์ตั้งวางอยู่ด้านหน้า ใกล้กันมีพระพุทธรูปอีก 7 องค์จำหลักรอบเสาหินทราย ประทับนั่งเรียงแถว ปางสมาธิ 5 องค์ ปางเดียวกับพระเจ้าตื้อ 2 องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้มีพุทธลักษณะเป็นแบบพระพุทธรูปอู่ทอง มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 ร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น ทุกปีมีงานนมัสการพระพุทธรูปที่ภูพระในกลางเดือน 5 เริ่มต้นวันขึ้น 14 ค่ำ รวม 3 วัน 

ประวัติพระเจ้าองค์ตื้อ
เขาภูพระ ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เนื่องด้วยกรมศิลปากรได้ประกาศทะเบียนโบราณวัตถุสถาน ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2478 เป็นต้นมา ภายหลังได้กำหนดขอบเขตที่ดินเป็นเขตโบราณสถานตามที่เห็นสมควรว้ด้วย เพื่อป้องกันมิให้ทำลายโบราณสถาน ที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดต่าง ๆ คือ ที่ตั้ง เลขที่ 2 ภูพระ ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 53 ตอนที่ 24 วันที่ 2 สิงหาคม 2479 พระพุทธรูปปางมารวิชัย จำหลักที่ผนังหินบนเนินเขาองค์หนึ่ง หน้าตักกว้าง 4 ศอก เรียกกันว่า "พระเจ้าองค์ตื้อ"ภูพระเป็นชื่อภูเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 12 ก.ม. ที่ผนังภูพระจำหลักเป็นพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่ง นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้างวางพาดอยู่ที่พระชงฆ์ หน้าตักกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต เรียกว่า "พระเจ้าองค์ตื้อ" และรอบ ๆ พระพุทธรูปองค์นี้มีรอยแกะหินเป็นรูปพระสาวกอีกหลายองค์ สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างในสมัยรุ่นราวคราวเดียวกับปรางค์กู่ก็เป็นได้ พระพุทธรูปเหล่านี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 ถึง 19 (ราว พ.ศ. 1701 - พ.ศ. 1900)

พระเจ้าองค์ตื้อ
ทางราชการจังหวัดชัยภูมิสอบถามคนรุ่นเก่าซึ่งรับรู้เรื่องราวสืบต่อ ๆ กันมานับเป็นร้อย ๆ ปีว่า มีผู้พบพระเจ้าองค์ตื้ออยู่ในป่าที่เขาแห่งหนึ่งจึงมีผู้ตั้งชื่อเขานี้ว่า "เขาภูพระ" ทุก ๆ ปีจะมีผู้ไปไหว้พระเจ้าองค์ตื้อในกลางเดือนห้าเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนต่างจังหวัดด้วย เนื่องจากผู้เลื่อมใสว่าหมอรักษาเป็นหมอลำให้การรักษาคนป่วยขอให้หาย โดยบนบานต่อพระเจ้าองค์ตื้อก็ได้สมปรารถนาซึ่งมีข้าราชการผู้ใหญ่ในปัจจุบันก็เป็นลูกที่ขอจากองค์ท่าน ในปี พ.ศ. 2483 พระวิบูลนิโรธกิจ อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ (พระครูจรูญนิโรธเจ้าคณะจังหวัดขณะนั้น) ได้ขอตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อ ศิลาอาสน์ และแผ้วถางบริเวณให้เตียน ในปีถัดไปได้สร้างเป็นกุฏิ มีพระภิกษุอยู่ประจำมาตลอดจนทุกวันนี้การจัดงานประจำปีมีผู้ไปช่วยทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์เป็นประจำมาจนถึงพระครูวิบูลเขมวัตร เป็นเจ้าอาวาสประมาณ พ.ศ. 2498 - 2505 ได้มีการตั้งกรรมการจัดงานประจำปีมีรายได้สุทธินำมาทำกำแพงฉาบหินกับซีเมนต์ไม่มีโครงเหล็กทั้ง 4 ด้าน ๆ ละ 13 เมตร ล้อมองค์พระอยู่ตรงกลางซึ่งมีระดับหินต่ำกว่ากำแพงที่ทำ (ได้รื้อกำแพงเพื่อทำการก่อสร้างใหม่)พ.ศ. 2505 เริ่มตั้งแต่เข้าปุริมพรรษา มีพระวชิรญาณ (วิเชียร สาคะริชานนท์) ซึ่งอุปสมบทที่วัดชัยประสิทธิ์ หลังจากพระราชทานเพลิงศพ หลวงจงวิชาเชิด โยมบิดามาจำพรรษาตามที่พูดไว้จัดผ้าป่าเดือนพฤศจิกายน 2505 มีญาติโยมมาทอดผ้าป่าได้เงิน 10,000 บาทเศษ ได้ล้อมรั้ววัดซึ่งเดิมไม่มีอาณาเขต ชาวบ้านทำไร่รุกเข้าไปจนถึงเชิงเขา ได้ขยายอาณาเขตออกไปถึง 196 ไร่ ได้ล้อมเสร็จ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2506 ก่อนลาสิกขาบท

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น