บริการสืบค้น

Custom Search

PostHeaderIcon วัดศิลาอาสน์ ภูพระ

ตั้งอยู่ที่บ้านนาไก่เซา ตำบลนาเสียว ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 201 (ชัยภูมิ-ภูเขียว) ประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามทางสายนาเสียว-ห้วยชันประมาณ 5 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร ภายบริเวณวัดมีเพิงผาหินซึ่งมีภาพจำหลักกลุ่มพระพุทธรูป อันเป็นที่มาของชื่อ ภูพระ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านมาช้านาน ปัจจุบันมีการสร้างหลังคาครอบไว้ ประกอบด้วยพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายพาดอยู่ที่พระชงฆ์ (พระหัตถ์อยู่ในท่าตรงข้ามกับปางมารวิชัย) เรียกกันว่า พระเจ้าตื้อ มีพระพุทธรูปหินทรายขนาดเล็กสูง 7 นิ้วลักษณะเดียวกันอีก 1 องค์ตั้งวางอยู่ด้านหน้า ใกล้กันมีพระพุทธรูปอีก 7 องค์จำหลักรอบเสาหินทราย ประทับนั่งเรียงแถว ปางสมาธิ 5 องค์ ปางเดียวกับพระเจ้าตื้อ 2 องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้มีพุทธลักษณะเป็นแบบพระพุทธรูปอู่ทอง มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 ร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น ทุกปีมีงานนมัสการพระพุทธรูปที่ภูพระในกลางเดือน 5 เริ่มต้นวันขึ้น 14 ค่ำ รวม 3 วัน 

ประวัติพระเจ้าองค์ตื้อ
เขาภูพระ ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เนื่องด้วยกรมศิลปากรได้ประกาศทะเบียนโบราณวัตถุสถาน ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2478 เป็นต้นมา ภายหลังได้กำหนดขอบเขตที่ดินเป็นเขตโบราณสถานตามที่เห็นสมควรว้ด้วย เพื่อป้องกันมิให้ทำลายโบราณสถาน ที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดต่าง ๆ คือ ที่ตั้ง เลขที่ 2 ภูพระ ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 53 ตอนที่ 24 วันที่ 2 สิงหาคม 2479 พระพุทธรูปปางมารวิชัย จำหลักที่ผนังหินบนเนินเขาองค์หนึ่ง หน้าตักกว้าง 4 ศอก เรียกกันว่า "พระเจ้าองค์ตื้อ"ภูพระเป็นชื่อภูเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 12 ก.ม. ที่ผนังภูพระจำหลักเป็นพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่ง นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้างวางพาดอยู่ที่พระชงฆ์ หน้าตักกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต เรียกว่า "พระเจ้าองค์ตื้อ" และรอบ ๆ พระพุทธรูปองค์นี้มีรอยแกะหินเป็นรูปพระสาวกอีกหลายองค์ สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างในสมัยรุ่นราวคราวเดียวกับปรางค์กู่ก็เป็นได้ พระพุทธรูปเหล่านี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 ถึง 19 (ราว พ.ศ. 1701 - พ.ศ. 1900)

พระเจ้าองค์ตื้อ
ทางราชการจังหวัดชัยภูมิสอบถามคนรุ่นเก่าซึ่งรับรู้เรื่องราวสืบต่อ ๆ กันมานับเป็นร้อย ๆ ปีว่า มีผู้พบพระเจ้าองค์ตื้ออยู่ในป่าที่เขาแห่งหนึ่งจึงมีผู้ตั้งชื่อเขานี้ว่า "เขาภูพระ" ทุก ๆ ปีจะมีผู้ไปไหว้พระเจ้าองค์ตื้อในกลางเดือนห้าเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนต่างจังหวัดด้วย เนื่องจากผู้เลื่อมใสว่าหมอรักษาเป็นหมอลำให้การรักษาคนป่วยขอให้หาย โดยบนบานต่อพระเจ้าองค์ตื้อก็ได้สมปรารถนาซึ่งมีข้าราชการผู้ใหญ่ในปัจจุบันก็เป็นลูกที่ขอจากองค์ท่าน ในปี พ.ศ. 2483 พระวิบูลนิโรธกิจ อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ (พระครูจรูญนิโรธเจ้าคณะจังหวัดขณะนั้น) ได้ขอตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อ ศิลาอาสน์ และแผ้วถางบริเวณให้เตียน ในปีถัดไปได้สร้างเป็นกุฏิ มีพระภิกษุอยู่ประจำมาตลอดจนทุกวันนี้การจัดงานประจำปีมีผู้ไปช่วยทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์เป็นประจำมาจนถึงพระครูวิบูลเขมวัตร เป็นเจ้าอาวาสประมาณ พ.ศ. 2498 - 2505 ได้มีการตั้งกรรมการจัดงานประจำปีมีรายได้สุทธินำมาทำกำแพงฉาบหินกับซีเมนต์ไม่มีโครงเหล็กทั้ง 4 ด้าน ๆ ละ 13 เมตร ล้อมองค์พระอยู่ตรงกลางซึ่งมีระดับหินต่ำกว่ากำแพงที่ทำ (ได้รื้อกำแพงเพื่อทำการก่อสร้างใหม่)พ.ศ. 2505 เริ่มตั้งแต่เข้าปุริมพรรษา มีพระวชิรญาณ (วิเชียร สาคะริชานนท์) ซึ่งอุปสมบทที่วัดชัยประสิทธิ์ หลังจากพระราชทานเพลิงศพ หลวงจงวิชาเชิด โยมบิดามาจำพรรษาตามที่พูดไว้จัดผ้าป่าเดือนพฤศจิกายน 2505 มีญาติโยมมาทอดผ้าป่าได้เงิน 10,000 บาทเศษ ได้ล้อมรั้ววัดซึ่งเดิมไม่มีอาณาเขต ชาวบ้านทำไร่รุกเข้าไปจนถึงเชิงเขา ได้ขยายอาณาเขตออกไปถึง 196 ไร่ ได้ล้อมเสร็จ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2506 ก่อนลาสิกขาบท

PostHeaderIcon วัดสระหงษ์

ตั้งอยู่ที่ตำบลนาเสียว ห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2051 มีทางแยกเข้าทางเดียวกับไปอ่างเก็บน้ำช่อระกา บริเวณวัดเป็นลาดหินเนินเขา มีหินก้อนหนึ่งรูปร่างคล้ายหงส์ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ถัดจากศาลาวัดไปด้านหลังมีสระน้ำโบราณกว้างประมาณ 10 เมตร มีน้ำตลอดปี 

PostHeaderIcon ใบเสมาบ้านกุดโง้ง

เก็บรักษาอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนวัดกุดโง้ง ตำบลกุดตุ้ม จากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 12 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปอีก 3 กิโลเมตรถึงบ้านกุดตุ้ม แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางสาย กุดตุ้ม-บุ่งคล้า อีก 4 กิโลเมตร ใบเสมาหินทรายศิลปทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 ที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณรอบๆ หมู่บ้านได้ถูกนำมารวบรวมไว้ในอาคารอย่างเป็นระเบียบ ส่วนมากมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ ด้านหน้าจำหลักลายและบางแผ่นมีจารึกอยู่ที่ด้านหลังด้วย ลวดลายที่ปรากฏเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาเล่าเรื่องชาดกตอนต่างๆ หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน 

การพบใบเสมาที่บ้านกุดโง้งพบกระจายอยู่ทั่วไปบริเวณรอบหมู่บ้าน แต่เดิมใบเสมาเหล่านี้จะจอมอยู่ในดินมีเฉพาะส่วนยอดโผล่ขึ้นมาให้เห็นไม่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป ยกเว้นใบเสนาภาพชาดกที่ไม่ได้ฝังจมดินเหมือนใบเสมาอื่นๆ แต่ปักอยู่กลางแจ้งที่ขอบเนินดินเตี้ยๆ ขนาดเล็ก 2 เนิน (ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นพื้นที่ทำนา) อยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก เนินดินแรกพบว่ามีการปักใบเสมาเป็นรูปวงกลมล้อมรอบเนินดิน โดยปักเสมาเป็นคู่มีอยู่ 5 จุด ส่วนเนินดินที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างจากเนินดินแรกไปทางตะวันตกเล็กน้อยมีลักษณะและทิศทางการปักเหมือนกับเนินดินแรก เนินดินทั้งสองนี้มีขนาดเล็กแะลไม่พบเศษอิฐหรือซากศาสนสถานในบริเวณดังกล่าวเลย 
จึงสันนิษฐานว่าใบเสมาภาพชาดกที่ปักอยู่รอบเนินดินนี้คงใช้ปักเป็นเครื่องหมายแสดงถึงลานที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่าที่จะใช้เป็นเสมารอบอุโบสถ แต่ช่วงเวลาต่อมาอาจได้มีการใช้เสมานี้เป็นสิ่งที่เคารพนับถือในหมู่บ้านด้วย เพราะใบเสมาที่เป็นรูปพระพุทธเจ้านั่งแสดงธรรมที่พบกลางเนินดินแรกนั้น ได้มีร่องรอยของการปิดทองอันแสดงถึงการใช้เป็นที่กราบไหว้บูชาทำนองเดียวกับพระพุทธรูปใบเสมาที่ที่พบโดยทั่วไปเป็นแบบแผ่นหินมีทั้งแบบเรียบๆ ที่ไม่มีการสลักภาพใดๆ และแบบที่มีการแกะสลักลวดลายต่างๆ ประดับลงไปซึ่งมีหลายแบบ โดยแบ่งลักษณะของลวดลายดังนี้
1.ลวดลายรูปเสมา เป็นการสลักโครงรูปเสมาทำให้แลดูคล้ายเป็นใบเสมาซ้อนกัน 2-3 ชั้น เสมาบางหลักมีการแกะลวดลายชนิดอื่นอยู่ภายในลายโครงรูปเสมาอีกทีหนึ่ง
2.ลวดลายรูปสถูป สลักเป็นรูปสถูปหรือรูปยอดสถูปมักมีรูปทรงสูงแหลม เกือบจดปลายใบเสมาบางหลักมีลายลูกแก้วหรือวงแหวนคั่นอยู่ที่โคนยอดสถูป
3.ลวดลายที่เป็นภาพชาดก สลักเป็นรูปภาพที่สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นเรื่องราวชองชาดก มีอยู่เพียง 9 หลัก ได้แก่ เรื่องมโหสถชาดก พรหมนารทชาดก เตมียชาดก ภูริทัตชาดก เป็นต้น นอกนั้นไม่สามารถที่จะวิเคราะห์จารึกที่ค้นพบบนในเสามาและการเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรมกับใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถกำหนดอายุใบเสมาบ้านกุดโง้งนี้ได้ว่ามีอายุอยู่ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ใบเสมาที่พบเหล่านี้ส่วนหนึ่งชาวบ้านได้นำมาเก็บรวบรวมไว้ที่วัดศรีปทุมคงคา เนื่องจากมีผู้ลักลอบเข้ามาขุดแล้วนำออกไปขาย ต่อมาสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ได้จัดสร้างอาคารถาวรเพื่อจัดแดสงและเก็บรักษาใบเสมาเหล่านี้ไว้ภายในบริเวณวัดศรีปทุมคงคา บ้านกุดโง้ง